ทำไมศตวรรษที่ 21 มนุษย์จึงต้องพัฒนาทักษะภายใน

IDG ให้คุณค่าอะไรกับชีวิตคุณ ?
 
“ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้
ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
 
“We shall require a substantially
new manner of thinking
if mankind is to survive.”
Albert Einstein
 
ทุกวันนี้ ด้วยอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลง ภาวะความเครียด ปัญหาสุขภาพจิตของคนทุกรุ่นทุกระดับ และภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงสู่ภาวะโลกเดือด ทำให้มนุษย์ไม่อาจประมาทและฝืนคงใช้ความรู้ ทักษะและศักยภาพเดิมๆ ที่ถูกครอบงำไว้ด้วยความโลภ การแข่งขัน ความไม่รู้ อันนำมาสู่การไม่เห็นความจริงทั้งหมดและความเห็นแก่ตัว มาเป็นจิตสำนึกในการออกแบบวิถีชีวิตและดำเนินธุรกิจอีกต่อไป
 
IDG – Inner Development Goal เปิดตัวในปี 2022 โดยนักพัฒนาศักยภาพมนุษย์ นักพัฒนาสังคม ศจ.และผู้รู้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้ออกแบบงานวิจัยที่มีผู้ร่วมกระบวนการนับพัยคน เพื่อค้นหาทักษะและศักยภาพ มนุษย์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
เพื่อชี้ให้เห็นถึงความหวังหนึ่งเดียวของมนุษยชาติที่อาจสามารถกอบกู้หายนะอันใหญ่หลวงที่มนุษยชาติได้กระทำต่อโลกอันนี้มาตลอดกว่า 200 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการยกระดับจิตสำนึกและการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา
IDG เผยให้เห็น 5 มิติสำคัญของการพัฒนาภายใน อันประกอบไปด้วย 23 ทักษะ ที่จะทำให้มนุษย์สามารถยกระดับจิตสำนึกและเข้าถึงศักยภาพใหม่ในการพัฒนาตนเอง ทั้งมิติของร่างกาย ความคิด จิตใจและจิตวิญญาณ เพื่อเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับตนเอง และธรรมชาติทั้งหมด

(รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.innerdevelopmentgoals.org/)

และผลลัพธ์อันทรงคุณค่าและมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียนรู้และพัฒนา IDG คือ การเข้าถึง Spiritual Intelligence หรือ ความฉลาดทางจิตวิญญาน
 
Spiritual Intelligence คืออะไร
 
Spiritual Intelligence “ความฉลาดทางจิตวิญญาณ” คือ องค์ความรู้สำคัญด้านการพัฒนามนุษย์ โดย Danah Zohar ในปี 1997 ใน ReWiring the Corporate Brain โดยขยายแนวคิดเรื่อง IQ (สติปัญญาดิบ) และ EQ (วุฒิภาวะทางอารมณ์) ให้กว้างขึ้น เพื่อรวมมิติทางจิตวิญญาณด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์ยังมีศักยภาพที่ซ่อนเร้น ซึ่งไม่ใช่ทฤษฏีหรือความเชื่อตามหลักปฏิบัติในศาสนา แต่เป็นสมรรถนะที่สามารถฝึกฝน และเป็นทักษะที่มนุษย์สามารถบรรลุและเข้าถึงได้
 
โดย Danah Zohar ได้ระบุคุณลักษณะของความฉลาดทางจิตวิญญาณไว้ 12 ประการ :
 
1. เข้าถึงการตระหนักรู้ในตนเอง Self-awareness : การรู้ว่าฉันเชื่อและเห็นคุณค่าอะไรและอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอย่างลึกซึ้ง
 
2. เข้าถึงความเป็นธรรมชาติในชีวิต Spontaneity : ใช้ชีวิตและตอบสนองต่อช่วงเวลานั้นอย่างไม่เป็นทุกข์
 
3. มีวิสัยทัศน์และคุณค่า Being vision : กระทำตามหลักการและความเชื่ออันลึกซึ้งและดำเนินชีวิตตามความหมายของชีวิต
 
4. เข้าถึงความเป็นองค์รวม Holism : มองเห็นรูปแบบ ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงที่ใหญ่ขึ้น มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นทั้งหมด (Holistic Worldview)
 
5. มีความเห็นอกเห็นใจ เมตตาเป็นปกติ Compassion : มีคุณสมบัติ "ความรู้สึกด้วย" และความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้ง
 
6. ยินดีโอบรับความแตกต่างหลากหลาย Celebration of diversity : การเห็นคุณค่าของผู้อื่น ตระหนักรู้และยอมรับความแตกต่างของผู้คน
 
7. เป็นอิสระจากทุกการตัดสิน Field independence : กล้าหาญ สามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสความเชื่อของผู้คน และเชื่อมั่นในตนเอง
 
8. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน Humility: เข้าถึงบทบาทหน้าที่และเป็นเนื้อแท้ในตนเอง
 
9. มองหาคุณค่าและมักตั้งถามว่า “ทำไม” ? Tendency to ask fundamental “Why?” questions: ใส่ใจในการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ และมองหาคุณค่าในสิ่งที่คิด พูด ทำ
 
10. ใจเปิดกว้าง สามารถปรับกรอบคิดได้ใหม่เสมอ Ability to reframe : ยืดหยุนในสถานการณ์หรือปัญหาและมองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นหรือบริบทที่กว้างขึ้น
 
11. พร้อมเผชิญความทุกข์ยากอย่างสร้างสรรค์ Positive use of adversity : การเรียนรู้และเติบโตจากความผิดพลาด ความพ่ายแพ้และความทุกข์
 
12. ได้ยินเสียงของหัวใจและค้นพบพันธกิจแห่งชีวิต Sense of vocation : ได้ยินเสียงเรียกร้องของหัวใจ เข้าถึงหน้าที่และภารกิจของชีวิต
 
ทั้ง 12 ข้อนี้นับเป็นคุณสมบัติและคุณลักษณะสำคัญของผู้ที่สามารถพัฒนาทักษะภายในอย่างสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้ว่าแต่ละข้อล้วนเป็นศักยภาพที่สำคัญและจำเป็นของผู้บริหาร ผู้นำองค์กรในทุกๆ ระดับ เพื่อที่จะสามารถคิด พูด ทำ วางแผนงานและขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับการเป็นส่วนหนี่งในการรักษาโลกใบนี้ นั่นคือการดำเนินกิจการที่สอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
 
"อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ การปฏิวัติจิต" (Spiritual Revolution)
ท่านทะไลลามะ
 
ธรากร กมลเปรมปิยะกุล
IDG Oneness Inner Development Creator
เขียน 04 ก.ย. 2566 20:15
ปรับแก้ 04 ก.ย. 2566 20:16
เปิดอ่านแล้ว : 60 ครั้ง