ต่างกาล...ต่างประสบการณ์

ต่างกาล... ต่างประสบการณ์

ในกิจกรรม Encouragement ของ i-Peace Workshop เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายนที่ผ่านมา คุณรัน Facilitator ได้ชวนทำกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้เลือกคำตอบในสถานการณ์ต่างๆ และนำมาสู่การฟังความคิดเห็นแบบมองต่างมุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจแม้จะอยู่กันคนละจุดยืนก็ตาม 

 

กิจกรรมนี้สะท้อนความคิดที่เป็นปัจเจกของแต่ละขั้วความคิด ขั้วอุดมการณ์ ขั้วความเชื่อ... 

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเราวิเคราะห์สืบสาวกันลงไปดีๆ จะพบว่าหลายๆครั้งคนที่มองต่างเหล่านั้นมีเป้าหมายเดียวกัน แล้วคำถามคือ เราจะเดินกันอย่างไรต่อไปดี??

 

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงงานเขียนที่ได้บันทึกไว้ช่วงเดือนธันวาคมที่ที่แล้ว ซึ่งกล่าวถึงปรากฏการณ์ในสังคมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และรวมถึง Generation Conflicts ที่มักพบในครอบครัวต่างๆ 

 

Cohort Effect

เป็นสิ่งที่มักพบในการทำวิจัยแบบที่เป็น Cross Sectional คือ การเก็บผลครั้งเดียวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ถามแล้วถามเลย ไม่วนมาถามใหม่หลังจากนั้น กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุหลากหลาย Generation ที่มีประสบการณ์ชีวิต พบเจอเรื่องราวแห่งยุคต่างๆ มาไม่เท่ากัน

คนอายุมากกว่าอาจรับรู้เรื่องราวบางเรื่องและซาบซึ้งกับสิ่งนั้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่เกิดไม่ทัน และไม่มีความอินหรือยินดียินร้ายใดๆ กับเรื่องเดียวกันนั้นเลย

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่เคยลำบากหรือเคยผ่านช่วงวิกฤติในการใช้ชีวิต หัวหน้าครอบครัวที่ฟันฝ่าทุกอย่างเพื่อปากท้องของคนในบ้านจะเป็นที่รักและเทิดทูนของสมาชิกในบ้านด้วยเหตุที่เห็นถึงการใช้สติปัญญา ความอดทน ความเพียรพยายาม และคุณสมบัติอันน่ายกย่องอื่นๆ

หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป... หลานๆรุ่นหลังเกิดมาในยุคสุขสบายแล้ว ผู้ใหญ่สอนให้เคารพหัวหน้าครอบครัวท่านนี้ โดยไม่ได้บอกเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ ลูกหลานในยุคหลังก็อาจนึกไม่ออกว่าด้วยซ้ำเหตุผลของรุ่นพ่อรุ่นแม่นั้นมันสำคัญยังไง 

เรื่องราวที่ฟังมานั้นช่างดูไม่มีน้ำหนักในสายตาของเด็กน้อยเหล่านั้นเสียเลย เพราะเกิดมาก็สุขสบาย ไม่เคยผ่านประสบการณ์ยากลำบากแบบคนรุ่นก่อน อยากได้อะไรก็ได้ บางทียังไม่ต้องชี้นิ้วแต่มีผู้ใหญ่ประเคนให้จนเบื่อหน่ายรำคาญ

 

ด้วยเหตุนี้ Cohort effect จึงทำให้เกิดข้อมูล bias ในเชิงวิจัย เพราะหากเราไปถามคนรุ่นพ่อแม่ กับคนรุ่นลูกหลาน ว่าคนแต่ละรุ่นคิดอย่างไรกับสิ่งที่คุณปู่สร้างมาเพื่อพวกเราทั้งครอบครัว คำตอบที่ได้รับย่อมต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มผู้ตอบ

คนรุ่นพ่อแม่จะพรรณาออกมาอย่างละเอียดพร้อมความรู้สึกชื่นชมแบบหนึ่ง

ในขณะที่คนรุ่นลูกหลาน มองไม่ออกจริงๆว่าทำไมต้องเคารพและรักต้นตระกูลของตัวเองขนาดนั้น เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเจอหน้ากันแล้ว หรือบางคนอาจพอจะตอบรายละเอียดได้หากค้นคว้ามาหรือยังจำได้จากที่พ่อแม่เคยเล่าให้ฟัง แต่นั่นอาจไม่ใช้ประเด็นสำหรับพวกเขา และมักมีคำถามกลับมาว่า "พวกเราจะมองไปข้างหน้าอย่างไร" 

 

คนในสอง Generation นี้ ไม่มีใครถูกผิด 100% (อย่างน้อยก็ตามหลักของการวิจัย)

เพราะมีประสบการณ์ชีวิตต่างกันตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ นักวิจัยจึงต้องออกแบบการเก็บข้อมูลแบบ Longitudinal กล่าวเป็นภาษาชาวบ้านคือ ดูกันไปยาวๆ

เก็บข้อมูลเป็นช่วงๆ และเก็บจากคนหลากหลายวัยในหัวข้อเดิม แล้วค่อยนำมาวิเคราะห์หาข้อสรุป เราจึงจะรู้คำตอบในหลากหลายมิติและเห็นความร่วมสมัยของคำตอบหนึ่งๆ ผ่านช่วงกาลเวลาและยุคสมัย

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนวิจัยอันแสนสนุกในคลาสเลยเอามาเล่าสู่กันฟังกับมิตรสหายทั้งหลายว่าด้วยเหตุการณ์ในสังคมและครอบครัวรอบตัวเรานี้

ถ้ามองตัวเองเป็นนักวิจัย นักสังเกตุการณ์ จะได้มีใจเป็นกลาง มองความเป็นไปของคนที่คิดต่างขั้วแล้วพยายามอธิบายพฤติกรรมและความเชื่อของคนเหล่านั้น

 

แค่เราเข้าใจกันตามสิ่งที่อีกฝ่ายนึงเป็น พวกเราคงโต้แย้งถกเถียงกันน้อยลง

แค่เราเรียนรู้และเข้าใจบริบทชีวิตของคนอื่น เห็นจุดร่วมในความต่าง 

แม้เราไม่ได้มายืนฝั่งอยู่ในเดียวกัน แต่ก็น่าจะทำให้เรายืนฝั่งเคียงข้างกันในสังคมง่ายขึ้น



mllenip ที่ปรึกษาอิสระ ด้านกลยุทธ์องค์กร การสื่อสารตราสินค้า กระบวนกร นักวิจัยเชิงคุณภาพ
Since:
Update:

Read : 104 times