นักไต่ราว: เรื่องเล่าที่แสดงถึงความเป็นดั่งกันและกัน

นิทานเรื่อง นักไต่ราว มาจากพระสูตรที่มีความลึกซึ้ง ที่แสดงถึงความเป็นดั่งกันและกัน (Interbeing) เรื่องราวมีอยู่ว่า

อาจารย์และลูกศิษย์ เป็นนักไต่ราว อาจารย์ให้ลูกศิษย์ยืนบนบ่า และบอกว่าให้ดูแลกันและกันจึงจะสำเร็จ ลูกศิษย์บอกว่า ต่างคนต่างดูแลตัวเองจึงจะสำเร็จ

ความเห็นของใครถูกต้อง

คำตอบ คือ ถูกทั้งคู่ ทั้ง 2 ความเห็นไม่ต่างกัน เมื่อไม่มีตัวตนที่แยกขาดจากกัน ฉันดูแลตัวเอง ด้วยการฝึกสติ เกิดผลที่ดี เธอก็ดีไปด้วย จึงเหมือนฉันได้ดูแลเธออยู่เช่นกัน ในขณะที่ ถ้าฉันดูแลเธอ ใจฉันก็กำลังมีเมตตา จึงเหมือนกับฉันกำลังดูแลตัวเองเช่นกัน 

เมื่อสลายความเห็นที่แบ่งแยกตัวตนได้ จะไม่มีตรรกกะเรื่องว่าดูแลใครก่อนหรือหลัง ทั้ง 2 ความคิดเห็น จึงเหมือนกันโดยสมบูรณ์ ดั่งใน เสทกสูตร

--- รัน ธีรัญญ์ 

========================

๙. เสทกสูตร

ว่าด้วยธรรมเทศนาที่เสทกนิคม

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะชื่อ เสทกะ แคว้นสุมภะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้ แล้วเรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ‘เมทกถาลิกะผู้สหาย เธอจงขึ้นราวไม้ไผ่ แล้วยืนบนคอของเราเถิด’

ภิกษุทั้งหลาย เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของคนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว แล้วได้ขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราวได้กล่าวว่า ‘เมทกถาลิกะผู้สหาย เธอจงรักษาเรา เราก็จักรักษาเธอ เราทั้งสองต่างคุ้มครอง รักษากันและกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากราวไม้ไผ่โดย ความสวัสดี’

ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวว่า ‘ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้ จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน เราทั้งสองต่างคุ้มครองรักษาตนอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจาก ราวไม้ไผ่โดยความสวัสดี”

 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสนับสนุนว่า “อุบายในเรื่องนั้นมีอยู่” เหมือนศิษย์ชื่อ เมทกถาลิกะได้พูดกับอาจารย์ คือ พระองค์ได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาตน’ พึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาผู้อื่น’ บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน

บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เป็นอย่างไร คือ บุคคลเมื่อรักษาตนด้วยการปฏิบัติ ด้วยการเจริญ ด้วยการทำให้มาก ชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล 

บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน เป็นอย่างไร คือ บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่นด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยจิตเมตตา ด้วยความเอ็นดู ชื่อว่ารักษาตน บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน เป็นอย่างนี้แล

เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาตน’ พึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาผู้อื่น’ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่า รักษาตน”

เสทกสูตรที่ ๙ จบ

ที่มา: สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค 

เล่ม/ข้อ/หน้า ๑๙/๓๘๕/๒๔๑

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา
Since:
Update:

Read : 30 times