ผสมผสานจานสี วงล้อแห่งอารมณ์ (The Wheel of Emotions)

พื้นฐานอารมณ์สู่ Inside Out (ไม่สปอย)

ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค (Robert Plutchik) ได้สร้างสรรค์วงล้อแห่งอารมณ์ (The Wheel of Emotions) ขึ้นมา โดยเสนอว่าอารมณ์พื้นฐาน (Basic Emotions) ประกอบด้วย 8 อารมณ์ และเป็น 4 คู่ตรงข้ามกัน ได้แก่

  • ความเบิกบาน (Joy) ตรงข้ามกับ ความเศร้า (Sadness)
  • ความโกรธ (Anger) ตรงข้ามกับ ความกลัว (Fear)
  • ความวางใจ (Trust) ตรงข้ามกับ ความรังเกียจ (Disgust)
  • ความประหลาดใจ (Surprise) ตรงข้ามกับ ความคาดหวัง (Anticipation)

ความเข้มข้นของอารมณ์

โดยในแต่ละอารมณ์หลัก ยังประกอบด้วยความเข้มข้น (Intensity) ทางอารมณ์ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ในสายธารเดิมของ 8 อารมณ์พื้นฐานนั่นเอง โดยเรียงความเข้มข้นทางอารมณ์จากน้อยไปมาก ได้ดังนี้

  • ความสงบปลอดโปร่ง (Serenity) ความเบิกบานใจ (Joy) และ ความปิติยินดี (Ecstasy)
  • ความหดหู่ (Gloominess) ความเศร้า (Sadness) และ ความเศร้าโศก (Grief)
  • ความรำคาญ (Annoyance) ความโกรธ (Anger) และ ความเดือดดาล (Fury)
  • ความขี้ขลาด (Timidity) ความกลัว (Fear) และ ความหวาดกลัว (Terror)
  • ความยอมรับ (Acceptance) ความวางใจ (Trust) และ ความยกย่อง (Admiration)
  • ความไม่ชอบ (Dislike) ความรังเกียจ (Disgust) และ ความรังเกียจเดียดฉันท์ (Loathing)
  • ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความประหลาดใจ (Surprise) และ ความพิศวง (Amazement)
  • ความสนใจ (Interest) ความคาดหวัง (Anticipation) และ การเฝ้าดู (Vigilance)

ผสมผสานจานสีแห่งอารมณ์

นอกจากนี้เมื่อนำอารมณ์พื้นฐานต่าง ๆ มาผสมผสานกันแล้ว ก็จะเกิดอารมณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น

  • ความรัก (Love) เกิดจาก ความเบิกบาน (Joy) ผสมกับความวางใจ (Trust)
  • ความยอมจำนน (Submission) เกิดจาก ความวางใจ (Trust) ผสมกับความกลัว (Fear)
  • ความสะพรึงกลัว (Awe) เกิดจาก ความกลัว (Fear) ผสมกับความประหลาดใจ (Surprise)
  • ความไม่ยอมรับ (Disapproval) เกิดจาก ความประหลาดใจ (Surprise) ผสมกับความเศร้า (Sadness)
  • ความไม่เชื่อ (Unbelief) เกิดจาก ความประหลาดใจ (Surprise) ผสมกับความรังเกียจ (Disgust)
  • ความสำนึกผิด (Remorse) เกิดจาก ความเศร้า (Sadness) ผสมกับความรังเกียจ (Disgust)
  • ความสบประสาท (Contempt) เกิดจาก ความรังเกียจ (Disgust) ผสมกับความโกรธ (Anger)
  • ความก้าวร้าว (Aggressiveness) เกิดจาก ความโกรธ (Anger) ผสมกับความคาดหวัง (Anticipation)
  • ความมองโลกในแง่ดี (Optimism) เกิดจาก ความคาดหวัง (Anticipation) ผสมกับความเบิกบาน (Joy)
  • ความปลาบปลื้มใจ (Delight) เกิดจาก ความเบิกบาน (Joy) ผสมกับความประหลาดใจ (Surprise)
  • ความสนใจใคร่รู้ (Curiosity) เกิดจาก ความวางใจ (Trust) ผสมกับความประหลาดใจ (Surprise)
  • ความเชื่อมั่น (Fatalism) เกิดจาก ความวางใจ (Trust) ผสมกับความคาดหวัง (Anticipation)
  • ความอิจฉา (Envy) เกิดจาก ความเศร้า (Sadness) ผสมกับความโกรธ (Anger)
  • ความดูถูกถากถาง (Cynicism) เกิดจาก ความรังเกียจ (Disgust) ผสมกับความคาดหวัง (Anticipation)

 

สร้างสรรค์อารมณ์ในสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรื่องอารมณ์ความรู้สึกจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ทั้งในวิถีชีวิตและการงาน หากเรามีความเข้าใจที่มาของอารมณ์เชิงบวก เราก็สามารถที่จะก่อประกอบเหตุปัจจัย โดยการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์พื้นฐานเชิงบวก ซึ่งนำมาสู่บรรยากาศที่เกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วน ในการประยุกต์ใช้วงล้อแห่งอารมณ์ (The Wheel of Emotions)

สร้างสรรค์ความปลาบปลื้มใจ (Delight)

เมื่อเราทราบว่า “ความเบิกบาน (Joy) + ความประหลาดใจ (Surprise) จึงเกิด ความปลาบปลื้มใจ (Delight)” หากเราต้องการให้ลูกค้าปลาบปลื้มใจ (Delight) ในสินค้าหรือบริการของเรา เราจำเป็นต้องสร้างความสุข ความเบิกบานให้เกิดขึ้นในสินค้าหรือบริการ (Joy) นอกจากนี้ สินค้าหรือบริการของเรา ยังจำเป็นต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ดีเกินคาดลูกค้าอีกด้วย (Surprise)

สร้างสรรค์ความสนใจใคร่รู้ (Curiosity)

เมื่อเราทราบว่า “ความวางใจ (Trust) + ความประหลาดใจ (Surprise) จึงเกิด ความสนใจใคร่รู้ (Curiosity)” หากเราต้องการสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ (Curiosity) เราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ (Trust) ให้เกิดขึ้นในห้องเรียน รวมถึงก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลัก จำเป็นต้องมีการอรัมภบท หรือ ยิงคำถามที่น่าสนใจ แบบเกินคาดเดาร่วมด้วย (Surprise)

สร้างสรรค์ความเชื่อมั่น (Fatalism)

เมื่อเราทราบว่า “ความวางใจ (Trust) + ความคาดหวัง (Anticipation) จึงเกิด ความเชื่อมั่น (Fatalism)” หากเราต้องการให้สินค้าหรือบริการของเราได้รับความเชื่อถือนิยมชมชอบ เราก็จำเป็นต้องนำเสนอความเชื่อและภาพฝันของเรา รวมถึงเปิดรับความคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความวางใจ (Trust) ซึ่งกันและกัน ให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อและภาพฝันของเรา สามารถคาดหวังอนาคตร่วมกันได้ (Anticipation) บรรยากาศแห่งความเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการ (Loyalty) ก็จะเกิดขึ้นมา

 

แนวทางการพัฒนาด้านอารมณ์

1. รับรู้อารมณ์ตามจริง

การรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นตามจริง (Name it to tame it) เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราโอบรับ (Embrace) ทุกอารมณ์โดยไม่กดทับ (Suppress) ในขณะเดียวกัน การฝึกรับรู้อารมณ์ตามจริง จะเกื้อกูลให้อารมณ์โดยรวม (Mood) ค่อย ๆ เกิดการปรับสัดส่วนจากความไม่พอใจสู่ความพอใจในชีวิตมากขึ้น เช่น สัดส่วนไม่พอใจ:พอใจ จากเดิม 70:30 กลายเป็น 30:70 เป็นต้น ซึ่งจะเกื้อกูลให้เกิดสุขภาวะที่ดีในชีวิตมากขึ้น (Wellbeing)

2. ฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิ

การฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิเกื้อกูลให้ใจเป็นกลาง ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นอิสระจากเสียงตัดสิน (Presence) การฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิ ช่วยเพิ่มโอกาสให้เราเท่าทันสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอารมณ์ เปลี่ยนจากการตกเป็นเหยื่อต่ออารมณ์ มาเป็นผู้เลือกที่จะปล่อยผ่านอารมณ์ได้ (Let Go) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการไร้อารมณ์ หรือกดทับอารมณ์ แต่คือการเป็นผู้เลือกที่จะสัมผัสถึงความมีชีวิตชีวาในปัจจุบัน

3. เปิดใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

แนวทางต่าง ๆ ในการพัฒนาด้านในจิตใจ ไม่ได้มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ในทุกช่วงจังหวะของชีวิต การสังเกตตนเอง การสะท้อนตนเองกับคนที่ไว้วางใจ และการเปิดใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยเกื้อกูลการพัฒนาด้านในจิตใจ

ขอเชิญฝึกสติ บ่มเพาะสมาธิร่วมกันผ่านแพลตฟอร์ม "อินเนอร์ คอร์เนอร์" กดที่นี่ => Presence

--- รัน ธีรัญญ์

Run Wisdom วิทยากร กระบวนกร ที่ปรึกษา
เขียน 21 มิ.ย. 2567 23:34
ปรับแก้ 02 ก.ค. 2567 00:13
เปิดอ่านแล้ว : 390 ครั้ง